วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558

บันทึกการปฏิบัติงานประจำวัน วันที่ 31 สิงหาคม 2558

บันทึกการปฏิบัติงานประจำวัน 
วันที่ 31 สิงหาคม 2558
ครูกศน.ตำบลนิคมพัฒนา

............................................


               วันจันทร์ วันทำงานวันแรกของสัปดาห์ มีภารกิจพร้อมลุยกับการประชุมเตรียมงานจัดนิทรรศการวันระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ ที่สำนักงานกศน.จังหวัดลำปางจะจัดขึ้น ในวันที่ 8-9 กันยายน 2558 ซึ่งวันนี้จะเป็นการประชุมเตรียมงานของแต่ละฝ่ายที่รับผิดชอบ ซึ่งข้าพเจ้าได้รับมอบหมายด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหน้าที่ช่วยเตรียมจัดแสดงโครงงานนักศึกษา ของกศน.ต่างๆ เช่น กศน.ทุ่งฝาย กศน.ต้นธงชัย กศน.ปงแสนทอง และกศน.อำเภออื่นๆของจังหวัดลำปางด้วย จากนั้นเป็นการประมาณค่าใช้จ่ายที่จะใช้ของแต่ละด้าน 
                  เรื่องแจ้งให้ทราบอื่นๆ จากหัวหน้างานฝ่ายต่างๆ ตามบทบาทภารกิจของครู เช่น การเข้าปฏิบัติงานในกศน.ตำบล สม่ำเสมอ  การส่งงานการประเมินผลโครงงการตามตัวชี้วัด  การสอบ n-net กับ E-exam ในวันที่ 15 กันยายนนี้ การเตรียมทำแผนปฏิบัติงานประจำปี 2559 

ช่วยกันจัดสถานที่ต้อนรับคณะดูงานค่ะ
               ช่วงบ่าย ได้ช่วยกันจัดสถานที่สำหรับต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากกศน.อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ที่จะมาในวันพรุ่งนี้ รอบบริเวณ อาคารกศน.อ.เมืองลำปาง และได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมในการแนะนำกศน. พรุ่งนี้ด้วย 

ผู้เรียนที่เรียนกับกศน. และนำไปทำต่อที่บ้าน


















                 
              ช่วงเย็นได้ประสานงานกลุ่มผู้เรียนเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทำการเพาะต้นอ่อนทานตะวัน ซึ่งอ.สุพรรณี ได้รับการติดต่อจาก กศน.อำเภอสบปราบ เพื่อนำไปจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในวันที่ 8-9 กันยายนนี้  จึงเข้าพื้นที่เพื่อไปติดต่อและนัดหมายกับผุ้เรียน ที่บ้านคลองน้ำลัด และตอบรับ กศน.อำเภอสบปราบว่าจะนำผลิตภัณฑ์เข้าร่วมแสดงและจำหน่ายค่ะ


                 ก่อนกลับบ้านแวะดูกศน.ตำบล ดูความเรียบร้อบและถ่ายรูปส่ง อ.กฤษณะ เพื่อจัดทำข้อมูลกศน.ตำบลทาง google drive อีกครั้ง

ภาพป้ายหน้าทางเข้ากศน.ตำบล


นางวราจันทร์  ศรีวรรณบุตร
ครูกศน.ตำบลนิคมพัฒนา
ผู้รายงาน

วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แผนการปฏิบัติงานประจำสัปดาห์ของครู กศน.ตำบลนิคมพัฒนา

แผนการปฏิบัติงานครู 
กศน.ตำบลนิคมพัฒนา
ระหว่าง วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558  ถึง วันที่  6 กันยายน พ.ศ. 2558


 ที่
วัน/เดือน/ปี
                        กิจกรรมที่ปฏิบัติ

    พื้นที่ดำเนินการ
1
31/ส../58
เข้ากศน.อำเภอเมืองลำปาง
- ประชุมนำเสนอแผนการจัดบู้ทในงานวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือที่จะจัดในวันที่ 8-9 กันยายน 2558 นี้
- เตรียมเอกสารข้อมูล SAR 2558 มาตรฐานที่ 5 และให้ข้อมูลกับมาตรฐานอื่นๆ
กศน.อำเภอเมืองลำปาง

2
1/ส../58


เข้ากศน.อำเภอเมืองลำปาง
- รวบรวมข้อมูล และเอกสารมาตรฐานที่ 5 ร่วมกับทีมงาน
- เสนอขออนุมัติโครงการกพช.นักศึกษา
กศน.อำเภอเมืองลำปาง

3
2/ส../58
เข้าตำบลนิคมพัฒนา
จัดการเรียนการสอน 

สถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็กจังหวัดลำปาง
4
3/ส../58
เข้ากศน.ตำบลนิคมพัฒนา
ประสานงานผู้ใหญ่บ้านเรื่องการเข้าร่วมประชาคมเพื่อจัดทำแผนปี 59
กศน.ตำบลนิคมพัฒนา

5
4/ส../58
เข้ากศน.ตำบลนิคมพัฒนา
จัดการเรียนการสอน

กศน.ตำบลนิคมพัฒนา
6
5/ส../58
วันหยุด


7
6/ส../58
วันหยุด


                                                           


นางวราจันทร์  ศรีวรรณบุตร
ครูกศน.ตำบลนิคมพัฒนา
ผู้ขออนุมัติแผน

วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558

บันทึกการปฏิบัติงานประจำวัน วันที่ 28 สิงหาคม 2558

บันทึกการปฏิบัติงานประจำวัน 
วันที่ 28 สิงหาคม 2558 
ครูกศน.ตำบลนิคมพัฒนา
..........................................

              เช้าวันศุกร์ เตรียมตัวแต่เช้าเพื่อไปสอนเด็กๆกศน.ตำบลนิคมพัฒนา วันพบกลุ่มครั้งที่ 17 ค่ะ (รายละเอียดในบันทึกหลังสอนครั้งที่ 17)  วันนี้ก็ได้เรียนรู้ร่วมกับผู้เรียน ในด้านการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรม  ซึ่งนี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น ในชุมชนนิคมพัฒนา ยังมีอีกมากที่เป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งอยู่ใกล้ตัวผู้เรียนทั้งสิ้น เพระาเป็นคนในชุมชน ย่อมรู้จักคุ้นเคยกัน แต่อาจจะยังไม่ได้ตระหนักถึงประโยชน์ หรือการนำมาปรับใช้กับตนเองและครอบครัวเท่านั้น

             นอกจากผู้เรียนจะได้ประโยชน์ ครูก็ได้แนวคิดมาปรับใช้ ในเรื่อง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ในบ้านของตัวเอง พอประมาณในการใช้ชีวิต พยายามรับ-จ่ายอย่างมีวินัย รู้ที่มาที่ไปของรายได้ และใช้ทรัพยากรในบ้านอย่างคุ้มค่า การปลูกพืชที่เราชอบกิน เพื่อจะได้กินสิ่งที่ปลูก แม่ทดลองทำน้ำหมัก แล้วใช้กับต้นไม้ในสวน ก็เป็นการประหยัดได้อีกทางและไม่ต้องกังวลเรื่องสารพิษอีกด้วย มีเหตุผลในการใช้จ่าย มีภูมิคุ้มกันที่ดีเพื่อรอรับการเปลี่ยนแปลง โดยพยายามหาความรู้ใหม่ๆเสมอ 

              ภาพต่อไปนี้ อาจจะไม่เกี่ยวกับงาน (ภาพงานใส่ไว้บันทึกหลังสอนครั้งที่ 17) แต่เป็นภาพต้นไม้ในสวนที่บ้านค่ะ ^_____^





สวนเล็กๆ ของแม่ ในภาพนี่เจ้าของสวนตัวจริงค่ะ ^^


นางวราจันทร์  ศรีวรรณบุตร 
ครูกศน.ตำบลนิคมพัฒนา
ผู้รายงาน

บันทึกหลังสอนครั้งที่ 17

บันทึกหลังสอนครั้งที่ 17 
วันที่ 28 สิงหาคม 2558 
ณ กศน.ตำบลนิคมพัฒนา
.......................................

                 นักศึกษาประถมศึกษา                   จำนวน  1    คน    มาเรียน 1 คน     ขาดเรียน - คน
                 นักศึกษามัธยมศึกษาตอนต้น        จำนวน  17 คน     มาเรียน 12 คน   ขาดเรียน 5 คน
                 นักศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย    จำนวน 28 คน     มาเรียน 18 คน   ขาดเรียน 10 คน
                                               รวมทั้งสิ้น        จำนวน  46 คน    มาเรียน  31 คน  ขาดเรียน 15 คน


                   วันศุกร์ ที่ 28 สิงหาคม 2558 เวลา 09.00 น. นักศึกษามาถึงกศน.ตำบล เมื่อช่วยกันทำความสะอาดห้องเรียนแล้ว ครูได้เริ่ม Home Room ซึ่งมีหัวข้อดังนี้
                   1. นัดหมายเข้าร่วมกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของ อบต.นิคมพัฒนาในวันพรุ่งนี้ 29 สิงหาคม 2558 ให้ไปพร้อมกันที่ หนองหล่ม เวลา 09.30 น. พร้อมเพรียงกัน
                   2.การส่งความก้าวหน้าของงานครั้งที่ 1 ได้แก่ โครงงาน รายงาน แฟ้มสะสมผลงาน และสมุดบันทึกกรต. ของผู้เรียน  นักศึกษาทยอยนำมาส่ง บางคนครูแนะนำให้ปรับปรุงแก้ไขมาส่งอักครั้ง สุดท้าย ในวันที่ 4 กันยายน 2558 ซึ่งเป็นการพบกลุ่มครั้งที่ 18 
                   3. หลังจากที่ครูประชาสัมพันธ์ เรื่องการใช้เว็บกศน.อำเภอเมืองลำปาง เพื่อเช็คเกรด วิชาที่ลงทะเบียน และกพช. ไปแล้วเบื้องต้นในเฟซบุ๊คกลุ่มกศน.ตำบล จึงได้มีการสาธิตการเข้าดูข้อมูลอีกครั้ง โดยครูเป็นผู้ดูแลแนะนำ

การจัดการเรียนการสอน 
วิชา ทักษะการเรียนรู้ เรื่อง การใช้แหล่งเรียนรู้
          หลังจากที่มีการตรวจเช็คงานครั้งที่ 1 และนัดหมายให้ส่งครั้งสุดท้ายวันที่ 4 กันยายน 2558 ครูแจกใบความรู้ให้ผู้เรียนเรื่อง การใช้แหล่งเรียนรู้ ความหมาย ประเภทของแหล่งเรียนรู้ โดยให้ผู้เรียนเสนอแหล่งเรียนรู้ที่รู้จักในหมู่บ้าน/ชุมชนตำบลนิคมพัฒนาและในอำเภอเมืองลำปาง พร้อมบอกความสำคัญ ผู้เรียนก็เสนอหลากหลาย เช่น 
              - แหล่งเรียนรู้ด้านธรรมชาติ/ระบบนิเวศ เช่น น้ำตกพระเสด็จสวนป่าแม่ทรายคำ  ป่าชุมชนดอยปัง
              - แหล่งเรียนรู้ด้านกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มทอผ้าบ้านชัยมงคล กลุ่มข้าวซ้อมมือบ้านร่มเย็น กลุ่มวิสาหกิจบ้านชัยภูทอง กลุ่มอาชีพผู้พิการตำบลนิคมพัฒนา
              - แหล่งเรียนรู้ด้านสถานที่สำคัญทางศิลปวัฒนธรรม เช่น วัดศรีไตรภูมิ วัดสาหลวง วัดชัยมงคล เป็นต้น 
              - แหล่งเรียนรู้ด้านการค้นคว้า ห้องสมุดกศน.ตำบล ห้องสมุดบ้านหนังสือชุมชน ห้องสมุดวัดศรีไตรภูมิ โรงเรียนกิวลมวิทยา ประชาชนจังหวัดลำปาง เป็นต้น

             และหลังจากการเรียนในห้องเรียนแล้ว ครูได้พานักศึกษาไปศึกษาแหล่งเรียนรู้สถานที่จริง คือ โรงทอผ้าบ้านชัยมงคล  และกลุ่มอาชีพผู้พิการ บ้านคลองน้ำลัด โดยได้ออกแบบบันทึกการเรียนรู้ให้ผู้เรียน เพื่อไปจดบันทึกข้อมูลจากแหล่งเรียนรู้ทั้ง 2 แห่ง ซึ่งผู้เรียนให้การตอบรับเป็นอย่างดี ครูเพิ่มเติมด้านการอนุรักษ์ และการเข้าไปใช้แหล่งเรียนรู้ของผู้เรียนให้มากยิ่งขึ้น
เรียนเนื้อหา มอบหมายงานกันก่อนค่ะ

ไปสังเกต สัมภาษณ์ และเรียนรู้ที่บ้านชัยมงคลค่ะ

ทั้งถาม ทั้งจด ตั้งใจกันนะคะ
จุดที่ 2 ที่ทำการชมรมผู้พิการ คุณเมธาสินธุ์ - คุณธัญวรัตน์ ชัยลิ้นฟ้า
เลี้ยงปลาในบ่อพลาสติก

ชมผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว นอกจากเด็กกศน. ก็มีผู้มาเที่ยวชมจากที่อื่นๆด้วยค่ะ

ในสวนมีผักนานาชนิด ปลูกไว้บริโภค เมื่อเหลือก็จำหน่าย
แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ได้ประโยชน์มากมายค่ะ

จากการเรียนการสอน ครูได้สอดแทรกปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่อง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ดังนี้
         1. หลักความพอประมาณ
         ผู้เรียนรู้จักการใช้แหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นอย่างคุ้มค่า และแสวงหาความรู้ได้อย่างเหมาะสม ด้วยความที่เป็นลูกหลาน เป็นคนในพื้นที่ เกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรของตนเอง และตัวอย่างที่ไปดูวันนี้ สอนให้ผู้เรียนได้เห็นถึงความพออยู่พอกิน พอประมาณ ได้เป็นอย่างดี
        2. หลักความมีเหตุผล
        การเรียนรู้ที่มีเหตุ และผล ตอบรับกันได้ดี เพราะเหตุใดต้องศึกษาแหล่งเรียนรู้ ผู้เรียนก็ตอบได้ว่า เป็นทรัพยากรในชุมชนของเรา ไม่ต้องเสียเวลาไปไกล และสามารถนำไปพัฒนาตนเองได้อย่างไร   
        3. หลักของการมีภูมิคุ้มกันที่ดี 
        การได้เรียนรู้ทั้งทางเนื้อหา และการเข้าพื้นที่ไปดูด้วยตนเอง ทำให้เกิดประสบการณ์ ผู้เรียนตั้งคำถามกับเจ้าของแหล่งเรียนรู้/ภูมิปัญญาได้เอง  เกิดความตระหนัก รักและหวงแหน โดยมีตัวอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต 
        4. เงื่อนไขความรู้ 
         การค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ทั้งจากตำรา และสื่ออินเตอร์เน็ต และเข้าไปชมแหล่งเรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนได้ทบทวนความรู้เดิม เพิ่มเติมความรู้ใหม่ และนำไปใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
        5. เงื่อนไขคุณธรรม    
        การฝึกให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบต่อการมาเรียน การส่งงาน และการได้ดูกลุ่มอาชีพ เป็นการปลูกฝังการประกอบอาชีพที่สุจริต ซึ่งผู้เรียนสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตของตนเองได้


นางวราจันทร์ ศรีวรรณบุตร
ครูกศน.ตำบลนิคมพัฒนา
ผู้รายงาน


บันทึกหลังสอน ครั้งที่ 16

บันทึกหลังสอน ครั้งที่ 16 
วันที่ 23 สิงหาคม 2558
ณ กศน.ตำบลนิคมพัฒนา
.......................................


            นักศึกษาประถมศึกษา                   จำนวน  1    คน    มาเรียน 1 คน     ขาดเรียน - คน
         นักศึกษามัธยมศึกษาตอนต้น        จำนวน  17 คน     มาเรียน 13 คน   ขาดเรียน 4 คน
         นักศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย    จำนวน 28 คน     มาเรียน 20 คน   ขาดเรียน 8 คน
                             รวมทั้งสิ้น        จำนวน  46 คน    มาเรียน  34 คน  ขาดเรียน 12 คน


                 วันอาทิตย์ ที่ 23 สิงหาคม 2558 เรียนชดเชยของวันที่ 21 สิงหาคม 2558 เนื่องจากครูติดภารกิจ เข้ารับการประเมินสถานศึกษาพอเพียง กศน.อ.เมืองลำปาง 
                  เมื่อนักศึกษาเริ่มทยอยมาถึงกศน.ตำบล ครูให้ทำความสะอาดพื้น ปัดกวาดเช็ดถู และดูแลต้นไม้ที่ปลูกร่วมกันรอบอาคาร จนกระทั่งเวลา 09.00 น. จึงเริ่ม Homeroom ซึ่งมีหัวข้อดังต่อไปนี้
                 1. การส่งงาน นักศึกษาที่ทำเสร็จแล้วสามารถส่งงานได้เลย ไม่ต้องรอจนครบกำหนด และส่วนที่ยังไม่เสร็จให้เร่งทำเนื่องจากจะครบกำหนดในการส่งคะแนนเก็บแล้ว
                 2.  แจ้งนักศึกษาที่คาดว่าจะจบ ให้เตรียมยื่นหลักฐานขอจบหลักสูตร เพื่อนำส่งกศน.อำเภอเมืองลำปาง 
                 3. แจ้งนักศึกษาเรื่องกิจกรรมอบรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ของอบต.นิคมพัฒนาในวันที่ 29 สิงหาคม 2558 เวลา 09.00-12.00 น. ณ สวนหนองหล่ม ตำบลนิคมพัฒนา


กิจกรรมการเรียนการสอน
รายวิชา วิทยาศาสตร์ เรื่อง พลังงานไฟฟ้า
       ครูนำเข้าสู่บทเรียนด้วยการให้ดูบัตรภาพเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิด และให้นักศึกษาบอกว่า เป็นการเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานอะไร เช่น เตารีด เด็กๆก็ช่วยกันตอบ ว่า เปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน เป็นต้น จากนั้นให้คำจำกัดความของ พลังงาน, ไฟฟ้า, กำลังไฟฟ้า, 
        ครูให้ดูสื่อวีดีทัศน์เรื่อง ไฟฟ้า(น่า) กดไลค์ จำนวน 4 ตอน โดยผู้เรียนจะได้ทราบเกี่ยวกับการเกิดไฟฟ้า การอ่านบิลไฟฟ้า คำนวนกำลังไฟฟ้า และคำนวณค่าไฟ เป็นต้น ก่อนดำเนินกิจกรรมกลุ่ม ให้คำนวณ และออกมาเฉลยหน้าห้อง 
        ครูให้ทำแบบทดสอบ และเฉลยพร้อมกัน จะได้ยินเสียงเฮมาเป็นระยะ เมื่อตอบถูก ซึ่งก็สร้างสีสันในห้องเรียนได้ จากนั้นจึงสรุปความคิดรวบยอดจากเนื้อหา ว่าจะใช้ไฟฟ้าอย่างไรให้ประหยัดพลังงาน ประหยัดรายจ่ายได้ ให้นักศึกษานำเสนอ ซึ่งที่นำเสนอมา เช่น 
     - การเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสมกับจำนวนสมาชิกในครอบครัว เช่น หม้อถุงข้าวขนาดเล็ก กำลังวัตต์น้อย สำหรับสมาชิก 2-3 คน เป็นต้น
      - สังเกตฉลากผลิตภัณฑ์ประหยัดไฟ เบอร์ 5 
      - มาตรการประหยัดไฟต่างๆ เช่น ปิดเมื่อไม่ใช้ ดึงปลั๊กทุกครั้ง เปิดแอร์ในอุณหภูมิที่เหมาะสม เป็นต้น
ดูสื่อ ไฟฟ้าน่า (กด) ไลค์
สาธิตการคำนวณกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่าน 

นักศึกษาทำแบบทดสอบ
ช่วยกันเฉลยบนกระดาน

ปัญหาและอุปสรรค
         การให้สูตรในการคำนวณกำลังไฟฟ้า P=VI โดยให้ทดลองทำโจทย์ กำหนดค่ามาให้ 2 ค่า หาค่าที่เหลือ ซึ่งเป็นการแก้สมการอย่างง่าย (ย้ายข้าง) พบว่า ผู้เรียนผู้ใหญ่ จะทำไม่ได้ ตามไม่ทัน ครูจึงแก้โดย ทำให้ดูเป็นตัวอย่างก่อน ช้าๆ พร้อมกันบนกระดาน เช่น
          ไดร์เป่าผม  กำลังไฟฟ้า(P) 750 W ความต่างศักย์(V) 220 Volt ให้หากระแสที่ไหลผ่าน 
                                     P = VI
                                 750 = 220I
                          750/220 = I
          ตอบ             3.409 = I  (กระแสที่ไหลผ่านไดร์เป่าผม 3.409 แอมแปร์)

จากการเรียนการสอน ครูได้สอดแทรกปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่อง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ดังนี้
        1. หลักความพอประมาณ
         นักศึกษาเรียนรู้เนื้อหาที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน การใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างรู้คุณค่า สร้างจิตสำนักที่ดีให้กับนักศึกษา
        2. หลักความมีเหตุผล
        การใช้เหตุผลในการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสิ่งต่างๆรอบตัว ให้คิดอย่างมีเหตุผลว่าทำไมบางบ้านถึงจ่ายค่าไฟเยอะ บางบ้านจ่ายน้อย มีปัจจัยจากอะไรบ้าง แล้วกลับมาคิดถึงครอบครัวตนเอง  
        3. หลักของการมีภูมิคุ้มกันที่ดี 
        เมื่อเรียนรู้ไปแล้วทำให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ดี ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในบ้าน และมีภูมิรู้เรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างคุ้มค่ามากที่สุดได้อย่างไร
        4. เงื่อนไขความรู้ 
         การค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ทั้งจากตำรา และสื่ออินเตอร์เน็ต การบรรยายของครู มีแบบทดสอบ เพื่อทดสอบความรู้เดิม ความรู้ใหม่ของผู้เรียน
        5. เงื่อนไขคุณธรรม    
        การฝึกให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบ เสียสละ และคำนึงถึงผลกระทบต่อส่วนรวมในเรื่อง การประหยัดพลังงานทุกด้าน และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไปได้



นางวราจันทร์ ศรีวรรณบุตร
ครูกศน.ตำบลนิคมพัฒนา
ผู้รายงาน

บันทึกหลังสอน ครั้งที่ 15

บันทึกหลังสอน ครั้งที่ 15
วันที่ 15 สิงหาคม 2558
ณ กศน.ตำบลนิคมพัฒนา
...........................................


                 นักศึกษาประถมศึกษา                   จำนวน  1    คน    มาเรียน 1 คน     ขาดเรียน - คน
                 นักศึกษามัธยมศึกษาตอนต้น        จำนวน  17 คน     มาเรียน 14 คน   ขาดเรียน 3 คน
                 นักศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย    จำนวน 28 คน     มาเรียน 20 คน   ขาดเรียน 8 คน
                                               รวมทั้งสิ้น        จำนวน  46 คน    มาเรียน  35 คน  ขาดเรียน 11 คน

             
                     วันเสาร์ ที่ 15 สิงหาคม 2558 เรียนชดเชยของวันที่ 14 สิงหาคม 2558 ซึ่งนักศึกษาและครูได้เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ที่ห้องสมุดประชาชนจังหวัดลำปาง 
                    เวลา 08.30 น. นักศึกษาเริ่มทยอยมาถึงกศน.ตำบล ครูให้ทำความสะอาดกศน. พื้น ปัดกวาดเช็ดถู และรดน้ำต้นไม้รอบอาคารก่อน จนกระทั่งเวลา 09.15 น. จึงเริ่ม Homeroom ซึ่งมีหัวข้อดังต่อไปนี้

                   1. กำหนดการส่งงาน โครงงาน รายงาน และสมุดบันทึกกรต. ของผู้เรียน ในวันที่ 28 สิงหาคม 2558 เป็นครั้งที่ 1 เพื่อดูความก้าวหน้า และสามารถนำไปปรับปรุงแก้ไขมาส่งอักครั้ง สุดท้าย ในวันที่ 4 กันยายน 2558 ซึ่งเป็นการพบกลุ่มครั้งที่ 18 เบื้องต้นนักศึกษาอยู่ระหว่างการทำผลงานชิ้นงาน หากใครที่ยังไม่ได้เริ่ม จะได้ติดตามได้ทันท่วงที
                   2. แจ้งกำหนดวันสอบปลายภาคเรียน 1/2558 วิชาบังคับในวันที่ 19-20 กันยายน 2558 เพื่อให้นักศึกษาได้เตรียมตัว เช่น ลางาน อ่านหนังสือสอบ ซึ่งตารางสอบ ครูจะแจ้งให้ในกลุ่มเฟซบุ๊ค กศน.ตำบล 
                   3. การเรียนการสอนครั้งที่ 16 ซึ่งเดิมเป็นวันที่ 21 สิงหาคม 2558 ให้เลื่อนไปเป็นวันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม 2558 เวลา 09.00 น.เป็นต้นไป เนื่องจากครูติดภารกิจงานประเมินสถานศึกษาพอเพียง และนัดหมายนักศึกษาที่จะไปร่วมให้คณะกรรมการสัมภาษณ์ ที่ กศน.อำเภอเมืองลำปาง ได้แก่ น.ส.เจนจิรา เจนจิรพจน์ เกี่ยวกับการได้รับรางวัลสุดยอดภาพถ่ายต้านยาเสพติดฯ 




การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

ขอยกตัวอย่าง 
วิชาภาษาไทย  เรื่องสุภาษิตคำพังเพย  โดยแบ่งเป็น
   - สุภาษิตคำพังเพยที่พบและใช้บ่อย 
   - สุภาษิตคำพังเพยล้านนา 
   - งานประเพณีของชาวละกอน
           และให้นักศึกษาค้นคว้าหาความหมาย สุภาษิตล้านนา วิธีการนำไปใช้ที่เหมาะสม ลงในใบงานที่ครูให้ ซึ่งผู้เรียนชอบและกระตือรือร้นในการทำกิจกรรม สื่อที่ใช้ส่วนใหญ่คือ อินเตอร์เน็ต ช่วยกันหาคำตอบแล้วแลกเปลี่ยนกันอธิบาย 
ตัวอย่างใบงาน

ตัวอย่างใบงาน


วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่องสารและผลิตภัณ์ในชีวิต 

           ซึ่งมีเนื้อหาค่อนข้างมาก และได้ทำการวิจัยในหัวข้อนี้ สอนโดยใช้แผนผังความคิดเพื่อสรุปใจความสำคัญ  ให้ครอบคลุมเนื้อหาดังนี้
                      1.1   สารอาหาร
1.2   สารอาหารที่ให้พลังงาน
1.3   สารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน
1.4   การทดสอบอาหาร
1.5   อาหารกับสุขภาพ

         และกลุ่มผู้ตัวอย่าง ได้ทดลอง ฝึกเขียน แผนผังความคิด (mind mapping) มาให้ครูดู และนำไปปรับปรุง ก่อนที่จะทำการทดสอบหลังการวิจัย ในสัปดาห์ถัดไป


ปัญหาและอุปสรรค
       การติดตามงานที่ตนเองขาดเรียน ของนักศึกษา ซึ่งบางครั้งไม่มาเรียน และตามไม่ทันเพื่อน ทำให้เกิดปัญหา อันเก่าไม่เสร็จ อันใหม่ยังไม่ได้ทำ การแก้ปัญหาคือ ครูจะแขวนไฟล์ใบงาน ไว้ที่เฟซบุ๊คของกลุ่มกศน.ตำบล สามารถไปโหลดและปริ๊น และทำมาส่งในครั้งต่อไป รวมถึงครูได้แนะนำมิให้ขาดเรียนบ่อยนัก ให้เห็นถึงความสำคัญของการมาเรียน รับผิดชอบต่อตนเองมากยิ่งขึ้น


จากการเรียนการสอน ครูได้สอดแทรกปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่อง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ดังนี้
         1. หลักความพอประมาณ
         เด็กๆได้ฝึกคิด และทบทวนตนเอง เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง การเข้ามาใช้สถานที่ ซึ่งเป็นห้องเรียน ต้องรับผิดชอบดูแลความสะอาดเรียบร้อยของห้องเรียนด้วย
        2. หลักความมีเหตุผล
        ในเรื่องการลำดับขั้นตอนความสำคัญของงานที่ครูสั่ง  การเรียน และภารกิจงานประจำของตนเอง เช่น งานที่จะต้องส่งครู วันที่ 28 สิงหาคมนี้ จะต้องวางแผนว่าจะทำสิ่งใดก่อน-หลัง ต้องฝึกความเป็นผู้มีเหตุผล เพราะเหตุใดต้องทำงานใดก่อนหรือหลัง ให้ฝึกคิดและปฏิบัติด้วยตนเอง   
        3. หลักของการมีภูมิคุ้มกันที่ดี 
        ในเรื่องของการเรียน เนื้อหาที่ยาก หรือมีรายละเอียดมากจะต้องใช้วิธีใดให้ผู้เรียนสามารถจดจำ และเข้าในเรื่องนั้นๆ สามารถนำไปใช้ได้ เช่น เรื่องการนำแผนที่ความคิดมาใช้ในการสรุปประเด็นสำคัญ เป็นการสร้างภูมิความรู้ของตนเอง ต่อไป 
        4. เงื่อนไขความรู้ 
         การค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ทั้งจากตำรา และสื่ออินเตอร์เน็ต ในเรื่องที่ยังไม่เข้าใจ ส่วนเรื่องที่รู้แล้วก็สามารถบอกเล่าให้เพื่อนร่วมชั้นฟังได้ เป็นการเพิ่มพูนความรู้
        5. เงื่อนไขคุณธรรม    
        การฝึกให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบต่อการส่งงาน รับผิดชอบต่อการสอบที่จะถึง ฝึกความมีน้ำใจ เสียสละ ดูแลสถานศึกษาของตนเอง ห้องเรียนและต้นไม้รอบอาคาร เป็นต้น



นางวราจันทร์ ศรีวรรณบุตร
ครูกศน.ตำบลนิคมพัฒนา
ผู้รายงาน

วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2558

บันทึกการปฏิบัติงานประจำวัน วันที่ 27 สิงหาคม 2558

บันทึกการปฏิบัติงานประจำวัน 
วันที่ 27 สิงหาคม 2558
ครูกศน.ตำบลนิคมพัฒนา
..................................
                วันพฤหัสบดีสีแสด เข้าสำนักงานกศน.อำเภอเมืองลำปาง เพื่อทำการคีย์ข้อมูลนักศึกษาในระบบสารสนเทศ และนำสู่การประมวลผล SAR ซึ่งก็มีติดขัดบ้าง ในเรื่องข้อมูลของนักศึกษาบางคนไม่ครบถ้วน ครูแก้ไขโดยการใช้เฟสบุ๊คกลุ่มกศน.ตำบล ตั้งโพสต์ไว้และให้นักศึกษามากรอกข้อมูล 



             ในช่วงบ่าย เวลา 14.00 น. ได้เข้ารับชมการถ่ายทอดผ่าน ETV เกี่ยวกับนโยบายของท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้


1.นโยบายจากกระแสพระราชดำรัส เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
           - ให้ครูรักเด็ก และเด็กรักครู
           - ให้ครูสอนเด็กให้มีนํ้าใจต่อเพื่อน
           - ให้ครูจัดกิจกรมให้เด็กทำร่วมกัน


2.นโยบายนายกฯ
           - ทำให้เร็ว ประชาชนพึงพอใจ คนมีคุณภาพ
           - ปรับลดภาระงานที่ไม่จำเป็น
           - เร่งปรับหลักสูตรให้ครู ผู้ปกครอง ผู้เรียน มีความสุข ใช้สื่อการสอน
           - ผลิตคนให้ทันตลาดแรงงาน แก้ปัญหาการว่างงาน
           - จัดการศึกษาให้ทั่วถึง เท่าเทียมกัน มีคุณภาพ
           - นำระบบ ICT สื่อการสอน เข้ามาใช้
           - เรียนให้ได้ทักษะชีวิต อยู่ในโลกไร้พรมแดน


3.นโยบายทั่วไป
           - การจัดทำแผนงาน/โครงการเริ่มใหม่ ต้องเข้าใจว่าทําเพื่ออะไร ทำเพื่อให้บรรลุงานหลัก
           - การปรับปรุงแผนงาน/โครงการเดิมที่ไม่สัมฤทธิ์ผล
           - แผนงาน/โครงการพระราชดำริ
           - งบประมาณ ให้วางแผนโครงการในงบลงทุนในไตรมาสแรก งบกลางให้เฉพาะที่จำเป็น โปร่งใส ตรวจสอบได้ บูรณาการใช้งบร่วมกันระหว่างหน่วยงาน
           - เน้นการใช้สื่อภายในและนอกองค์กรให้ได้ ช่องทางการสื่อสาร เช่น ไลน์ จัดให้มีแผนการประชาสัมพันธ์
           - การรักษาสภาพแวดล้อม ความปลอดภัย
           - อำนวยการเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน
           - การร่วมมือกับภาคเอกชนและประชาสังคม การรับนักเรียน/นศ.ทำงานระหว่างเรียน
           - ลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนของครู เพื่อให้ครูมีเวลาสอนมากขึ้น
           - การประเมินเพื่อความก้าวหน้า ต้องยึดผลการพัฒนาของผู้เรียน ทักษะชีวิต และคุณลักษณะอันพึงประสงค์
           - การแก้ไขปัญหาการศึกษาสามจังหวัดชายแดนใต้
           - ให้นำ ICT เข้ามาใช้ในการบริหารงาน การศึกษา การสารสนเทศ
           -ให้ความสำคัญกับการบริหารงานส่วนภูมิภาคและเขตพื้นที่ต่างๆ ทบทวนบทบาทหน้าที่ สิ่งใดต้องรู้และยังไม่รู้
           - ให้ความสําคัญกับเทคนิคการสอน และการสื่อความหมายที่ดี
 

4.นโยบายปราบปรามการทุจริต ห้ามซื้อขายตำแหน่งเพื่อย้ายที่อยู่
หลังจากเดือน ธ.ค.จะมีการสุ่มตรวจ

5. นโยบาย กศน.
- ขยายโอกาสทางการศึกษาทั่วถึง มีคุณภาพ
- กศน.คู่ขนานกับอาชีวศึกษา
- จัดส่งเสริมการศึกษาทุกช่วงวัย โดยห้องสมุดต้องมีบทบาทสำคัญ
- สอดแทรกเนื้อหาอุดมการณ์รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ี



นโยบายของท่านรัฐมนตรีดาว์พงษ์
1. Hit The Point มุ่งไปที่เป้าหมาย
2. Dinamic เต็มไปด้วยพลังและความคิดสร้างสรรค์,
3. Lively มีชีวิตชีวา คล่องแคล่ว มีพลัง
ท่านพลเอกดาว์พงษ์ กล่าวมอบ นโยบายในการทำงาน

รัยฟังนโยบายพร้อมกัน
นางวราจันทร์  ศรีวรรณบุตร
ครูกศน.ตำบลนิคมพัฒนา
ผู้รายงาน

บันทึกการปฏิบัติงานประจำวัน วันที่ 26 สิงหาคม 2558

บันทึกการปฏิบัติงานประจำวัน 
วันที่ 26 สิงหาคม 2558
ครูกศน.ตำบลนิคมพัฒนา
.......................................


                 วันนี้เดินทางไปสอนหนังสือ กลุ่มนักศึกษาสถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็กจังหวัดลำปาง (รายละเอียดในบันทึกหลังสอน) หลังจากนั้นไปแวะไปดูหนังสือพิมพ์ที่กศน.ตำบล พบว่ามีการจัดส่งตามบ้านหนังสือเรียบร้อยแล้ว และได้ไปประสานที่ อบต.นิคมพัฒนาว่า มีการใช้งบประมาณของ อปท. สนับสนุนหนังสือพิมพ์ในหมู่บ้านหรือไม่ เพื่อจะนำข้อมูลมาแจ้งกับทางกศน.จังหวัดลำปาง ที่ได้มีการให้สำรวจนั้น พบว่า ทางอบต.นิคมพัฒนา ไม่ได้มีงบประมาณส่วนนี้ มีเพียงหนังสือพิมพ์รายวัน ของอบต. แห่งเดียว ฉบับเดียว และมีหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ (ลำปางโพสต์) ที่ผู้มีจิตศรัทธาซื้อให้ทุกหมู่บ้าน จัดไว้ที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ครูได้บันทึกข้อมูลไป

                 ช่วงบ่ายได้เข้าปฏิบัติงานที่ กศน.อำเภอเมืองลำปาง เช็คงานทางไลน์กลุ่ม พบว่า มีเรื่องสำคัญหลายเรื่องด้วยกัน ได้แก่
               1. ไลน์ พี่น้องกศน.ลำปาง ท่านผอ.คเชนทร์ ได้เชิญชวนให้สมาชิกกศน.จังหวัดลำปางเข้าร่วมกลุ่มไลน์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวต่างๆของกศน.

              2. ไลน์กลุ่มกศน.อำเภอเมืองลำปาง อ.สุพรรณี แจ้งขอข้อมูลบ้านหนังสือชุมชน ว่ามี อปท. หรือผู้มีจิตศรัทธา มอบหนังสือพิมพ์รายวันให้บ้านหนังสือชุมชนหรือไม่ ทางตำบลนิคมพัฒนาได้รายงานไปว่า ไม่มีหน่วยงานอปท. หรือผู้มีจิตศรัทธามอบหนังสือพิมพ์รายวันให้ทั้ง 7 หมู่บ้าน แต่บ้านหนังสือชุมชน ยังพร้อมที่จะดำเนินการต่อไป แต่อาจเป็นกิจกรรม หรือหนังสืออ่านประเภท หนังสือนอกเวลา หนังสือเรียน เป็นต้น 

               3. ไลน์กลุ่มกศน.อำเภอเมืองลำปาง อ. กฤษณะ แจ้งการเข้ารับชม ข้อมูล เกรด กพช.และวิชาที่เรียนของนักศึกษาผ่านทางเว็บไซต์ของกศน.อ.เมืองลำปาง ได้ โดยนักศึกษาเพียงแค่กรอกรหัสนักศึกษา หรือชื่อของตน เท่านั้นเอง
เว็บไซต์ของกศน.อำเภอเมืองลำปาง และช่องทางสำหรับเช็คเกรด วิชาที่ลงทะเบียน และกพช.
             
เมื่อเข้าไปในเว็บ สามารถพิมพ์รหัสนักศึกษาเพื่อค้นหาข้อมูลของตนเองได้ 
             

                     ระบบนี้เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้เรียนและครูกศน.ตำบล เนื่องจากเป็นการแบ่งเบาภาระของครู โดยให้นักศึกษาได้สืบค้นด้วยตนเอง ได้ทุกที่ ทุกเวลา ทั้งในคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และสมาร์ทโฟน ครูก็สามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูลของผู้เรียนได้รวดเร็ว ฉับไว ขอขอบพระคุณท่านผอ. และอ.กฤษณะ อ.เอกอนันต์ ที่ได้จัดทำโปรแกรมนี้ขึ้นมาค่ะ มีประโยชน์มากจริงๆ 

                         ซึ่ง ข้าพเจ้า ได้นำไปประชาสัมพันธ์ให้นักศึกษาทราบแล้วทางเฟซบุ๊คกลุ่มกศน.ตำบลนิคมพัฒนา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษา

ครูกศน.ตำบล ได้นำ URL ของเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ในกลุ่มกศน.ตำบลนิคมพัฒนา เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าไปสืบค้นได้

 4. ไลน์กลุ่มศน.อำเภอเมืองลำปาง ท่านผอ.ณราวัลย์ แจ้งการเข้าร่วมรับฟังการชี้แจงนโยบายจากท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการทางช่อง ETV  ในวันพรุ่งนี้ (27 สิงหาคม 2558) เวลา 13.30 น. เพื่อนำสู่การปฏิบัติต่อไป ขอบพระคุณท่านผอ. ที่แจ้งข่าวสารตลอดเลยค่ะ ^__^


นางวราจันทร์  ศรีวรรณบุตร
ครูกศน.ตำบลนิคมพัฒนา
ผู้รายงาน

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

บันทึกการปฏิบัติงานประจำวัน วันที่ 25 สิงหาคม 2558

บันทึกการปฏิบัติงานประจำวัน 
วันที่ 25 สิงหาคม 2558
ครูกศน.ตำบลนิคมพัฒนา

............................................


                    วันนี้เข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ตำบลนิคมพัฒนา เข้าเยี่ยมชมกลุ่มทอผ้าบ้านชัยมงคล เพื่อขอบพระคุณทางกลุ่มที่ได้ช่วยประสานงาน และจัดสถานที่เป็นแหล่งเรียนรู้ "ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนตำบลนิคมพัฒนา" ซึ่งได้พูดคุยกับทางรองประธานกลุ่มและสมาชิกบางส่วน ในเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้แหล่งเรียนรู้เป็นที่รู้จักในชุมชน และวางแผนนำนักศึกษามาศึกษาดูงานต่อไปด้วย ถ่ายภาพโรงทอ ผลิตภัณฑ์ และบรรยากาศภายในโรงทอ เพื่อส่งให้อาจารย์กฤษณะ นำไปเป็นข้อมูลแหล่งเรียนรู้ ของ กศน.อำเภอเมืองลำปางต่อไป



                    จากนั้นเดินทางไปบ้านคุณธัญวรัตน์ คุณเมธาสินธุ์ ชัยลิ้นฟ้า ซึ่งเป็นผู้พิการทางขาทั้งคู่ อยู่ที่บ้านคลองน้ำลัด ม.5 เพื่อเยี่ยมชมกลุ่มประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว ที่กศน.นิคมพัฒนาได้เข้าไปส่งเสริมในปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมา และกลุ่มผู้พิการยังคงทำต่อเนื่อง และพัฒนารูปแบบที่หลากหลายยิ่งขึ้น  เมื่อได้ไปเยี่ยมที่บ้าน ยังได้พบว่า บ้านคุณธัญวรัตน์ ได้มีการนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ด้วย ด้วยการปฏิบัติตนอย่างพออยู่พอกิน พอประมาณ แม้จะเป็นผู้พิการ แต่มีการบริหารพื้นที่ในบ้านทำแปลงผัก สวนข้าวโพด เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ไข่ สามารถนำมาบริโภค และจำหน่ายมีรายได้อีกด้วย  จึงได้มีแนวคิดจะนำนักศึกษามาศึกษาดูงานต่อไปอีกแห่งหนึ่งด้วย
คุณธัญวรัตน์ ชัยลิ้นฟ้า ผู้พิการทางขา เจ้าของบ้าน
กลุ่มผู้พิการที่เรียนการทำกะลาจบแล้ว ลงมือสร้างผลงาน
ผลงานของกลุ่ม
ในบ้านมีการเลี้ยงปลาในบ่อพลาสติกค่ะ
 

สวนหลังบ้านแบ่งปลูกพืชผักนานาชนิด

                   วันนี้ได้รับความรู้หลากหลาย กลับมาทำงานต่อที่กศน.ตำบล ในเรื่องการบันทึกข้อมูลนักศึกษาในระบบสารสนเทศของกศน.อำเภอเมืองลำปางที่ทางคณะเจ้าหน้าที่ได้จัดระบบไว้ให้ แต่ก็ทำให้ทราบว่า ขาดข้อมูลไปอีกหลายอย่างที่ต้องสอบถามนักศึกษาเพิ่มเติม เช่น กรุ๊ปเลือด เป็นต้น ซึ่งจะได้นำไปปรับปรุงหาข้อมูลเพิ่มต่อไป


นางวราจันทร์  ศรีวรรณบุตร
ครูกศน.ตำบลนิคมพัฒนา
ผู้รายงาน